ข่าวสาร - บทความ

ลดมลภาวะจาก "พลาสติก" ห้าง-ร้านสะดวกซื้อ พร้อมใจงดใช้ "ถุง"

ไทยรัฐฉบับพิมพ์12 พ.ย. 2561 05:01 น.
SHARE

 

           อีกครั้งที่ความพยายามยกเลิกการใช้พลาสติก ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกัน กลับมาเอาจริงเอาจังกันใหม่ และครั้งนี้มีแนวโน้มที่รัฐบาลไทยกับหลายประเทศ จะให้ความร่วมมือกันจริงจังมากขึ้นเพื่อผลักดันให้ประชากรปฏิเสธการใช้พลาสติก

หลังจากที่องค์การสหประชาชาติ (UN) และกลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace) สำรวจพบว่า การผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลกในปี 2559 มีการเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 8.6% นับแต่ปี 2493 จาก 1.5 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 330 ล้านตันต่อปี กระทั่งถึงปัจจุบันมีพลาสติกมากกว่า 9,000 ล้านตันที่ผลิตขึ้นในโลก ได้กลายเป็นขยะที่สร้างหายนะร้ายแรงต่อมลภาวะ และระบบนิเวศของโลกอย่างมโหฬาร

โดยเฉพาะเมื่อพวกมันถูกทิ้งลงในมหาสมุทรจนนำไปสู่การตายของสัตว์ทะเลจำนวนมาก เนื่องเพราะมีพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลใหม่ได้เพียง 9% และเผาทำลายได้เพียง 12% ที่เหลือ 79% ตกค้างอยู่ในมหาสมุทร และแผ่นดินในประเทศต่างๆที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองห้าม ไม่ให้มีการนำขยะมีพิษมาทิ้ง

ในรายงานจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ และสถาบันสมุทรศาสตร์ในรัฐแมสซาชูเซทส์ของสหรัฐฯ ระบุว่า พลาสติกที่ตกค้างในมหาสมุทร และสิ่งแวดล้อมต่างๆจำนวน 1,200 ล้านตันคิดเป็น 5,000 เท่าของจำนวนวาฬสีน้ำเงินที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้

 

ขยะเหล่านี้ อยู่ในกระแสน้ำวนหลายตารางกิโลเมตร หลายสิ่งหลายอย่างตั้งแต่ถุง ขวด บรรจุภัณฑ์ ถัง กล่องโฟม ตาข่ายจับปลา เชือกพลาสติก กรวยจราจร ไฟแช็ก ของเล่นพลาสติก ยางรถยนต์ แปรงสีฟันพลาสติก และวัตถุพลาสติกขนาดเล็กนับหมื่นๆแสนๆชิ้น วัตถุพลาสติกเหล่านี้ทำร้ายเต่าทะเล สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม นกทะเล และสัตว์อื่นๆ รวมถึงปลาวาฬ ซึ่งคิดว่ามันคืออาหารธรรมชาติ เช่น แมงกะพรุน

นักวิจัยพบว่า มีพลาสติกในกระเพาะอาหารของนกทะเลถึง 44% ของสายพันธุ์นกทะเลทั้งหมดและ 22% ของปลาวาฬ เต่าทะเลทุกพันธุ์ และที่เสี่ยงมากที่สุดก็คือ นก ปลา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก ซึ่งสับสนว่า นั่นคืออาหารเช่นเดียวกับแพลงก์ตอนหรือไม่

ทำให้แต่ละปีมีนกทะเลกว่า 1 ล้านตัน และสัตว์เลี่ยงลูกด้วยนมในทะเล มากกว่า 100,000 ตัว ต้องตายเพราะการกินพลาสติกเข้าไปและติดค้างในระบบลำไส้ โดยเฉพาะเชือกไนล่อน หรือเชือกพลาสติก

ข้างต้นคือที่มาที่ ทีมเศรษฐกิจ ขอนำเสนอเป็นบทความในวันจันทร์นี้ เพื่อลำดับความเป็นมาให้ผู้อ่านทราบว่าประเทศไทยกำลังรณรงค์อย่างจริงจังให้คนไทยปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก โฟม แก้วพลาสติก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

 

โดยในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมถึงร้านสะดวกซื้อ จะพร้อมใจกันงดใช้ถุงพลาสติกทั่วประเทศ โดยเฟซบุ๊ก Campaign DEQP 9 ได้โพสต์แคมเปญว่า D-DAY 4 ธันวาคม 2561 นี้ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ของดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว

พร้อมติด# ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ-ลดให้-ลดใช้ถุงพลาสติกที่ตลาดสดแล้ว ที่ห้าง และร้านสะดวกซื้อก็ร่วมรณรงค์ งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วด้วย

นับจากวันที่ 4 ธันวาคม ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอให้รัฐบาลจัดให้วันนี้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกก็เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมนาถบพิตร ในรัชกาลที่ 9 และรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยช่วยกันรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมด้วย

จากการสำรวจความพร้อมของบรรดาผู้ประกอบการ เราได้ข้อมูลจากร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีสาขามากที่สุดกว่า 11,000 สาขาทั่วประเทศพบว่า เซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินโครงการรณรงค์ลดและเลิกการใช้ถุงพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการ 7 Go Green มาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว

นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จนถึงปัจจุบัน ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์เดียวกันนี้ด้วย

ความแน่วแน่อีกครั้งว่า จะลด และเลิกการใช้ถุงพลาสติกที่ร้านเซเว่นฯทุกสาขา โดยเชิญชวนคนไทย ร่วมมือกันลด และเลิกใช้ถุงพลาสติก พร้อมให้แต้ม 10 แต้มกับลูกค้าที่ชำระเงินผ่านบัตร 7 Value Card และปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก เนื่องจากเชื่อว่า การลดใช้ถุงพลาสติกวันละถุงจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้

 

ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการเป็นอย่างดี ในทุกโครงการลดการใช้ถุงพลาสติก ทั้งปฏิเสธถุงได้แต้ม, ปฏิเสธถุงได้ใจ, ปฏิเสธถุงได้บุญ, ใช้ถุงผ้า บอกลาถุงพลาสติก, โครงการรักษ์อันดามัน ร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติก และแคมเปญ “คิดถุ๊ง คิดถุง”

ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ นำร่องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 80% ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่นฯที่อยู่ในมหาวิทยาลัยได้ถึง 90% ทำให้ปี 2560 สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 24.09 ล้านใบ

“นี่เป็นความมุ่งมั่นของซีพี ออลล์ ที่จะเดินหน้าขยายผลต่อเนื่อง เพื่อลดและเลิกการใช้ถุงพลาสติกอย่างถาวรในอนาคตเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน”

สำหรับที่ ห้างเทสโก้ โลตัส นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบริษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส เป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกๆในประเทศไทยที่ริเริ่มโครงการรณรงค์ให้ลูกค้าไม่รับถุงพลาสติก ด้วยการให้แต้มแทนคำขอบคุณ และสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้า

“เราเริ่มโครงการ “ภูมิใจไม่ใช้ถุง” มาตั้งแต่ปี 2553 และได้เพิ่มความเข้มข้นของโครงการขึ้นทุกๆปี ลูกค้าก็ตอบรับเพิ่มขึ้นทุกๆปี จากกระแสสังคม และความตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น เพียง 5 ปี เทสโก้ โลตัส สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้แล้วมากกว่า 100 ล้านใบ และได้ให้แต้มกรีนพอยต์ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 3,000 ล้านแต้ม ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2561 ซึ่งเป็น “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” ที่เทสโก้ โลตัส เพิ่มแต้มกรีนพอยต์ให้ 5 เท่า”

จากเดิม 20 แต้ม เป็น 100 แต้มทุกวัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าในการลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งจากการแจกแต้มกรีนพอยต์ตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ลูกค้าปฏิเสธการรับถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 70% ถือว่าประ สบความสำเร็จมาก และในวันสิ่งแวดล้อมไทยที่จะมาถึงในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ เทสโก้ โลตัส ก็ร่วมกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นๆ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม งดให้ถุงพลาสติกทุกสาขาทั่วประเทศด้วย

นอกจากนี้ยังเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดถุงพลาสติกที่ร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขานวมินทร์ และสาขา I’m Park ก็กำลังจะงดให้ถุงพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไปด้วย

ส่วนที่ ร้านท็อปส์ น.ส.ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เปิดเผยว่า หลังประกาศสร้าง “สังคมไร้ถุงพลาสติก” ผ่านโครงการ “ท็อปส์...ชวนทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” แล้ว ทำให้ท็อปส์ถูกยกขึ้นเป็นร้านค้าปลีกรายแรกๆ ที่ประกาศงดแจกถุงหูหิ้วพลาสติก สำหรับใส่สินค้าทุกวันที่ 3 ของเดือน พร้อมกัน 279 สาขาทั่วประเทศ

 

ขณะเดียวกันก็ยกเลิกหลอดพลาสติก เปลี่ยนเป็นหลอด Biodegradable ผลิตจากข้าวโพดธรรมชาติ 100% ซึ่งจากการดำเนินโครงการอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2561 ทำให้ลูกค้าที่นำถุงผ้ามาช็อปปิ้ง และงดรับถุงพลาสติกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คาดว่าถึงสิ้นปี 2561 ท็อปส์จะสามารถลดปริมาณถุงหูหิ้วพลาสติกได้มากกว่า 50 ล้านใบ

“ท็อปส์ได้เปิดบริการ “Green Checkout” แคชเชียร์ช่องพิเศษ สำหรับลูกค้าที่นำถุงผ้ามาช็อปปิ้ง หรืองดรับถุงพลาสติกแล้วที่ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และ ท็อปส์ มาร์เก็ต ทุกสาขา พร้อมแจกคะแนน “เดอะวันการ์ด 8 คะแนน” เพิ่มด้วย ร่วมกันสร้างสังคมปลอดถุงพลาสติก สำหรับความร่วมมือ กับภาครัฐในการดำเนินนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงในวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคมนี้ ก็ได้ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วไทย พร้อมใจงดให้ถุงพลาสติกด้วยกัน ซึ่งท็อปส์ ก็ได้รับความร่วมมือเต็มที่”

นายอรรถพล อุไรไพรวัน รองประธาน ฝ่ายการตลาด และการสื่อสาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่ม บริษัทบีเจซี กล่าวว่า ในฐานะห้างของคนไทยที่หัวใจคือลูกค้าบิ๊กซี ได้ร่วมปลุกกระแสรักษ์โลกมาโดยตลอด ล่าสุดก็เชิญชวนลูกค้าเข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลังรักษ์โลก ลดใช้ถุงพลาสติก” ด้วยการแจกคะแนนพิเศษ 300 คะแนน ในทุกวันพุธ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน-31 ธันวาคม 2561 ที่ห้างบิ๊กซีทุกสาขา ทั่วประเทศ สำหรับลูกค้าสมาชิกบิ๊กการ์ดที่ซื้อสินค้า 300 บาทขึ้นไป และไม่รับถุงพลาสติก ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนนโยบายรัฐในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก และตระหนักถึงภัยอันตรายที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

“ตั้งแต่เริ่มแคมเปญมีลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และน่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นกระแสและเป็นเทรนด์ของโลกที่ทุกฝ่ายพร้อมใจกันรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก”

ขณะที่ นางณัฐศมน วงศ์กิตติพัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่การตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เดอะมอลล์ “ร่วมด้วยช่วยลดถุง” มาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว ในโครงการ Think Green ปรับเปลี่ยนถุงพลาสติกใน Home Fresh Mart และ Gourmet Market เป็นแบบ Oxo Biodegradable Bag ที่สามารถย่อยสลายได้เองใน 1 ปี ในภาวะธรรมชาติ และปี 2551 ก็ประกาศการเป็น Green Department Store รายแรกของโลกที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิก Climate Neutral Network โดย United Nations Environment Programme (UNEP) : โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ

แต่มาเริ่มเข้มข้นขึ้นในปี 2560 และปี 2561 และจุดประกายไม่มีบริการถุงพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” ก็ได้รับความร่วมมือจากลูกค้าดีมาก และขอความร่วมมือกับลูกค้า

 

“ใน 1 ปี เดอะมอลล์ กรุ๊ป ใช้ถุงพลาสติกราว 100 ล้านใบ เดิมการใช้ถุงพลาสติกมีสัดส่วน 95% จากถุงทั้งหมด แต่จากโครงการ Think Green เราลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติกลงได้กว่า 20% เนื่องจากเปลี่ยนถุงช็อปปิ้งจากพลาสติกมาเป็นกระดาษรีไซเคิล ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ถุงพาสติกลดลงเรื่อยๆจนปัจจุบันเหลือ 75% ถุงกระดาษ 25% แผนกที่ใช้ถุงพลาสติกมากสุด คือ Home Fresh Mart และ Gourmet Market คิดเป็น 73% ของการใช้ถุงทั้งห้าง”

ปี 2560 เดอะมอลล์ กรุ๊ปสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากถึง 4 ล้านใบ ปี 2561 คาดว่า จะลดได้มากถึง 6 ล้านใบ โดยเป้าหมายปี 2562 น่าจะลดได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 10% จากงดแจกถุงพลาสติกในวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 2 วัน ซึ่งทำมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 และปีหน้าตั้งเป้างดแจกถุงพลาสติกเดือนละ 3 วัน

เมื่อทราบโดยทั่วกันเช่นนี้ ก็ขอให้ผู้อ่านเตรียมการให้พร้อมด้วยการนำถุงผ้าติดตัวไปด้วยเมื่อต้องไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านสะดวกซื้อต่างๆเพื่อช่วยกันลดมลภาวะเป็นพิษทางสังคม.

ทีมเศรษฐกิจ


แนวคิดสีเขียว จุดกระแสเทรนด์รักษ์โลก ปี 2020 มาแรง เลิกใช้ถุงก๊อบแก๊บ

28 ธ.ค. 2562 08:55 น.
SHARE

อยากรู้ปีชวด ในปี 2020 จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง? ต้องติดตาม นอกเหนือจากเทคโนโลยี ซึ่งมีผลต่อการทำธุรกิจ หลายองค์กรบริษัทต้องรีบปรับตัวให้ทันกระแส และน่าชัดเจนมากยิ่งขึ้นกับ “เทรนด์รักษ์โลก” จากการเริ่มรณรงค์งดใช้พลาสติก หรือสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลาย ท่ามกลางภูมิอากาศโลกที่ผันผวน จากฝีมือมนุษย์ หากไม่เริ่มต้นลดละเลิก จะเข้าสู่วิกฤติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ช่วงที่ผ่านมากระแส “รักษ์โลก” ด้วยการรณรงค์ลด เลิก ใช้ถุง กล่อง แก้ว ทำมาจากพลาสติกและโฟม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ หรือ “แพ็กเกจจิ้ง” ที่ย่อยสลายได้มาแทนที่ ส่งผลให้ตลาดผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเติบโตขึ้นต่อเนื่องไม่หยุด และธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจกับแนวคิดสีเขียวสร้างความจดจำให้กับผู้บริโภคและเพิ่มการตัดสินใจซื้อได้มากขึ้นในอนาคต

ข่าวแนะนำ

จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่าขยะพลาสติกมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก โดยประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตันต่อปี มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่การนำกลับมาใช้ประโยชน์ หรือรีไซเคิล มีเพียง 0.5 ล้านตัน หรือ 25% เท่านั้น ส่วนที่เหลือถูกนำไปฝังกลบ, เผา หรือตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายๆ ภาคส่วนมีการตื่นตัวรณรงค์ประชาชนให้ใช้ถุงผ้า หรือตะกร้า แทนถุงพลาสติก รวมใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้

กระทั่งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 มีท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น ได้มีมติงดใช้ถุงพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอด้วยการงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ดีเดย์วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป เพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หากได้รับความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียง เชื่อว่าเร็วๆ นี้ ประเทศไทยจะปราศจาก “ถุงก๊อบแก๊บ” ในไม่ช้า เหมือนหลายๆ ประเทศในโลก

“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ "ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล" รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในมุมมองของนักการตลาด มองว่า เทรนด์รักษ์โลก ในปี 2020 จะชัดเจนมากขึ้น ในการลดใช้พลาสติกจะขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งในยุโรป ได้เริ่มมาแล้วก่อนหน้า และต่อไปนี้จะเห็นคนไทยมีจิตสำนึกมากขึ้น โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ต มีการเลิกใช้ถุงพลาสติก หันมารณรงค์ใช้ถุงผ้า

“สมัยก่อนใครถือถุงผ้าถูกมองเป็นเรื่องแปลก แต่ปัจจุบันใครถือถุงพลาสติกก็จะดูแปลก ยกตัวอย่างร้านกาแฟอินทนิล ในกลุ่มธุรกิจบางจาก ได้ออกแบบฝาใหม่ ไม่ใช้หลอด หรือร้านเครื่องดื่มหลายแห่ง หันมาใช้หลอดกระดาษ ทำให้ธุรกิจทำหลอดกระดาษและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเติบโตต่อเนื่อง จากเดิมคนที่เคยซื้อลูกชิ้นใส่ถุงพลาสติก ซ้อนอีกชั้นด้วยถุงก๊อบแก๊บ เท่ากับใช้ถุงพลาสติกเบิ้ล ก็จะหมดไป เราจะเริ่มใช้จานชามแบบรีไซเคิลมากขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนจากการใช้ไบโอพลาสติก ไม่สามารถย่อยสลายได้ มาเป็นโนพลาสติกมากขึ้น เพราะสามารถย่อยสลายได้”

นอกจากนี้ “เทรนด์รักษ์โลก” ยังทำให้เกิด ”เอ็นเนอร์จี เซฟวิ่ง” อย่างเห็นได้ชัด เช่น รถยนต์อีวี รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถบัส รถบรรทุก ซึ่งใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่เฉพาะแอร์ หรือตู้เย็นที่ใช้กันในบ้านเท่านั้น แต่จะขยายวงกว้างมากขึ้นมีการทำบ้าน "โซลาร์รูฟ" ซึ่งจะมาแรง โดยที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนเป็นหลังคาโซลาร์ ใช้พลังงานจากฟ้าให้มา แทนการใช้ถ่านหินซึ่งสร้างมลพิษ ทำให้คนไทยตระหนักมากขึ้นจนทำให้เทรนด์เปลี่ยน ส่งผลให้มูลค่าตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเติบโตมากขึ้นภายใน 5 ปี

หรือกรณีรองเท้าแบรนด์ต่างๆ เริ่มใช้ขวดพลาสติกนำมารีไซเคิลทำรองเท้า เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ "เซอร์คูลาร์อีโคโนมี" (Circular Economy) มาดำเนินธุรกิจแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการหมุนเวียนนำวัสดุที่ใช้แล้ว นำมาใช้อีก และงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปี 2563 ชูแคมเปญ “Waste This Way” จุดกระแสนิสิตนักศึกษา ลงมือช่วยลดปัญหาขยะ โดยผลิตเสื้อทำมาจากขวดพลาสติก เช่นเดียวกับสินค้าแบรนด์ระดับโลก

ส่วนอีก 2 เทรนด์ที่จะตามมาแน่ๆ จะเห็นการลดใช้เนื้อสัตว์ในการแปรรรูปอาหาร โดยใช้พืชแทน หรือ "แพลนต์-เบสต์" (Plant-Based) เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดคาร์บอนจำนวนมาก แม้ขณะนี้คนยังไม่ยอมรับมากพอ แต่จะเป็นการเริ่มต้น แม้ต้นทุนช่วงแรกแพง แต่เมื่อมีคนนิยมมากขึ้นจะทำให้ต้นทุนถูกลง และอีกเทรนด์จะเป็นการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่น กระเป๋าแบรนด์ “ไฟร-ทาร์ก” (Freitag) ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ใช้ผ้าใบคลุมรถบรรทุกมาทำกระเป๋า และนำเข็มขัดนิรภัยรีไซเคิลมาทำสายหิ้ว เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในยุโรป

ขณะเดียวกันได้นำมาซึ่งการสร้างสังคมในชุมชน เป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือ "โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์" (Social Enterprise) แตกต่างกับการทำโอทอป อยากให้รัฐบาลไทยนำมาดำเนินการมากกว่าการให้เงิน ถือเป็นหลักการตลาดที่ดี โดยเทรนด์ดังกล่าวกำลังเข้ามาในไทย ซึ่งเอกชนหลายแห่งกำลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาสังคมในชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งกินที่หรูหราระดับโรงแรม

“อยากให้บริษัทต่างๆ เอาส่วนนี้ไปดำเนินการ เลิกใช้เงินบริจาค แต่ให้ไปสร้างอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นในชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้วัสดุอย่างคุ้มค่ามากขึ้น เช่น ออสเตรเลีย นำหนังแกะมาทำรองเท้าหนัง หรือไทยมียางพารา ควรนำมาทำสินค้าสร้างแบรนด์ ทั้งๆ ที่เมืองไทย มีของมากมาย ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการต่อยอด จึงถึงเวลาแล้วในการพัฒนาให้เป็นแบรนด์ระดับโลก ด้วยการใช้เทรนด์รักษ์โลก”.